หน้าหลัก
ITA
LPA
ประกาศจากระบบ e-GP
ประกาศจากระบบ e-GP ในเครือข่าย
หน้าหลัก

Home
ข้อมูลหน่วยงาน

History
บุคลากร

Staff
การบริหารบุคคล

Personnel
ข่าวสาร

News
แผน

Planning
รายงาน

Report
ระเบียบ

Rules
บริการประชาชน

Service
เทศบาลตำบล ดอนพุด ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ
 
สำนักงานเทศบาลตำบลดอนพุด
อ.ดอนพุด จ.สระบุรี 18210
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทต.ดอนพุด
เทศบาลดอนพุดพร้อมพัฒนาเยาวชนสู่ประชาคมอาเซียน
ศูนย์สาธิตเศรษฐกิจพอเพียง
ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
เทศบาลตำบลดอนพุด
1
2
3
 
 

 
การป้องกันและควบคุมอาชญากรรมในชุมชน  
 



การป้องกันและควบคุมอาชญากรรมในชุมชน


  
การป้องกันและควบคุมอาชญากรรมในชุมชน
อาชญากรรมกับผู้เสียหายหรือเหยื่อ (Victims) นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกัน โดยเมื่ออาชญากร (Criminal) กระทำการประทุษร้ายต่อเหยื่อ (Victims) โดยละเมิดกฎหมายแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือมีอาชญากรรม (Crime) หรือความผิดเกิดขึ้น ดังนั้นเหยื่อจึงมีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรมโดยตรง หากทำให้เหยื่อมีน้อยลง อาชญากรรมก็จะลดลงตามไปด้วย ดังแผนภาพ
ด้วยเหตุนี้ จึงเน้นการป้องกันอาชญากรรมไปที่เหยื่อดังจะกล่าวต่อไปนี้
1.การป้องกันอาชญากรรม (Prevention) ในความหมายอย่างกว้างนั้น ครอบคลุมทั้งการป้องกันล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิด และป้องกันภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งเมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นแล้วก็จะป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก
สำหรับผู้เสียหายหรือเหยื่อ (Victims) คือบุคคลที่ถูกประทุษร้ายในทางชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินโดยปราศจากความยินยอมของผู้นั้น นอกจากนั้นผู้เสียหายยังหมายความคลุมถึงบริษัท ห้างร้าน หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ถูกประทุษร้ายในทางทรัพย์สินด้วย
อาชญากรรมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเหยื่ออย่างมาก ซึ่งแยกกันไม่ออก โดยอาจจะกล่าวได้ว่าเหยื่อเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเกิดอาชญากรรม กล่าวคือ หากมีอาชญากรรมเกิดขึ้นแล้วจะต้องมีเหยื่อเกิดขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเหยื่อที่เกิดขึ้นโดยพฤตินัยหรือโดยนิตินัยก็ได้ แต่ถ้าเป็นเหยื่อโดยพฤตินัยที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดแล้ว เหยื่อนั้นจะไม่มีสิทธิในการร้องทุกข์หรือดำเนินคดีด้วยตนเองได้ ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับเหยื่อหรือผู้เสียหายนั้นมีประโยชน์คือ
ประการแรก ผู้เสียหายจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการสืบสวนเพื่อจะนำไปสู่ผู้กระทำผิดต่อไป เพราะผู้เสียหายเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และใกล้ชิดกับตัวผู้กระทำความผิดมากที่สุด
ประการที่สอง ในด้านการป้องกันอาชญากรรม ทำให้ทราบสาเหตุในการเกิดอาชญากรรมมากขึ้น เมื่อเราทราบว่าอาชญากรรมใดมักเกิดกับบุคคลหรือธุรกิจใดๆ แล้ว เราก็สามารถที่จะวางแผนป้องกันมิให้อาชญากรรมเกิดขึ้นได้ เช่น การไม่เดินไปในทางที่เปลี่ยวๆ หรือการไม่ใส่เครื่องประดับที่มีราคาสูงมากเกินไป หรือการไม่แต่งกายอันเป็นการยั่วยวนทางเพศ เป็นต้น
ประการที่สาม ช่วยให้กระบวนการลงโทษหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความเป็นธรรมอย่างแท้จริงมากยิ่งขึ้น โดยการกำหนดโทษนั้นมีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ทั้งในแง่ตัวผู้กระทำผิดและผู้เป็นเหยื่อมาผสมผสานกัน ทำให้การกำหนดโทษของศาลมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ประการที่สี่ ช่วยเป็นตัวกระตุ้นผลักดันให้รัฐควรต้องคำนึงถึงบทบาทของรัฐมากขึ้นสำหรับในการช่วยเยียวยาจ่ายค่าทดแทนให้แก่เหยื่ออาชญากรรมตามสมควรแล้วแต่กรณีไป
2.แนวทางในการป้องกันและแก้ไขไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ โดยการลดช่องโอกาสในการกระทำความผิด
สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการตกเป็นเหยื่อนั้น จะต้องอาศัยแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมโดยการตัดช่องโอกาสในการกระทำความผิดซึ่งเป็นแนวทางการป้องกันที่เน้นการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่ออาชญากร
โดยการตัดช่องโอกาสในการกระทำผิด สำหรับแนวคิดในการป้องกันอาชญากรรมโดยการตัดช่องโอกาสนั้น ตั้งอยู่บนสมมุติฐานของทฤษฎีการลดช่องโอกาสในการตกเป็นเหยื่อที่ว่า อาชญากรรมเป็นผลมาจากมูลเหตุจูงใจบวกกับช่องโอกาสในการกระทำผิด กล่าวคือ ถ้ามีตัวอาชญากรหรือมีมูลเหตุจูงใจ แต่ไม่มีช่องโอกาสในการกระทำความผิดแล้ว อาชญากรรมก็จะไม่เกิด และในทางกลับกัน ถ้ามีช่องโอกาสในการกระทำความผิดแล้ว แต่ไม่มีมูลเหตุจูงใจ อาชญากรรมก็ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โจรประชุมนัดหมายจะไปปล้นบ้านนายดำ แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่านายดำเปิดไฟและมีสุนัขเห่า ทำให้โจรกลับไป แสดงให้เห็นว่าไม่มีช่องโอกาสในการกระทำความผิด โจรจึงไม่เข้าปล้น หรือกรณีตัวอย่างลืมกระเป๋าสตางค์ไว้หน้าบ้าน มีคนเดินผ่านไปมาแต่กระเป๋าสตางค์ไม่หาย แสดงให้เห็นว่าแม้มีช่องโอกาส แต่ไม่มีเหตุจูงใจหรือตัวอาชญากรโดยคนเดินผ่านไปมาเป็นคนดี อาชญากรรมก็ไม่เกิดขึ้น เป็นต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า อาชญากรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีทั้งมูลเหตุจูงใจและช่องโอกาสในการกระทำความผิด ปรากฏดังสมการที่แสดงให้เห็นดังนี้
เมื่อพิจารณาเงื่อนไขในการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมจากสมการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถ้าจะป้องกันที่มูลเหตุจูงใจโดยทำให้ไม่มีตัวอาชญากรหรือไม่ให้มีมูลเหตุจูงใจนั้น ทางปฏิบัติคงจะทำได้ยาก เพราะไม่อาจที่จะหยั่งถึงได้ว่าใครเป็นคนดี คนไม่ดี มีจิตใจชั่วร้ายมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น การป้องกันจึงหันมาคำนึงถึงการลดช่องโอกาสในการกระทำความผิดมากกว่าที่จะเน้นการป้องกันไปที่มูลเหตุจูงใจ สำหรับการลดช่องโอกาสในการกระทำผิดนั้น อาจทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งอาจทำได้ 2 ทางคือ โดยการใช้สภาพแวดล้อมทางรูปธรรมหรือทางกายภาพ และโดยการใช้สภาพแวดล้อมทางนามธรรมหรือทางสังคม ดังนี้
2.1 การป้องกันอาชญากรรมโดยการใช้สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (รูปธรรม) เป็นวิธีทำให้การประกอบอาชญากรรมช้าลงหรือทำไม่ได้ โดยมีมาตรการในระดับต่างๆ ดังนี้
(1) ในระดับเมือง เช่น การวางผังเมืองจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมไว้ โดยจะต้องออกแบบถนน อาคาร สวนสาธารณะ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของเมืองให้ชุมชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในส่วนควบคุมดูแลการใช้พื้นที่โดยไม่ให้เกิดมุมอับขึ้น เพื่อที่จะได้สังเกตคนแปลกหน้า หรือลดช่องว่างที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชญากรรมได้ เป็นต้น
(2) ในระดับอาคารสถานที่ เช่น การทำรั้ว ลูกกรง เหล็กดัด ติดตามประตูหน้าต่าง การใช้สัญญาณเตือนภัย การใช้โทรทัศน์วงจรปิด หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้าช่วยเพื่อทำให้การประกอบอาชญากรรมทำได้ช้าหรือยากยิ่งขึ้น เป็นต้น
(3) ในระดับบุคคล เช่น การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันตัว (เครื่องส่งสัญญาณเตือนภัย มีดหรืออาวุธต่างๆ) การเรียนศิลปะป้องกันตัว หรือการหลีกเลี่ยงไปในที่เปลี่ยวในเวลากลางคืน หรือหลีกเลี่ยงการสวมใส่ของมีค่าติดตัว หรือการไม่ประมาทเพื่อป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม หรือหลีกเลี่ยงอบายมุขต่างๆ หรือเลือกคบแต่คนดีๆ ไม่คบคนพาลเพื่อหลีกเลี่ยงในการเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมก่ออาชญากรรมด้วย เป็นต้น
2.2 การป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อมทางสังคม (นามธรรม) เป็นการจัดความสัมพันธ์ของชุมชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของชุมชนในการป้องกันอาชญากรรมขึ้น เช่น มาตรการเพื่อนบ้านเตือนภัย หรือมาตรการสายตรวจประชาชน หรือมาตรการอาสาสมัครป้องกันอาชญากรรม เป็นต้น

เครดิต : https://www.matichon.co.th/article/news_739425

 

ข่าว ณ. วันที่ 2 พ.ย. 2564 เวลา 12.59 น. โดย คุณวรินทร์กาญจน์ พันธ์แก้ว

ผู้เข้าชม 4603 ท่าน

 
 
 
 
 
  เทศบาลตำบลดอนพุด อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี โทร : 036-385-034 โทรสาร : 036-385-034
  สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2551 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 เทศบาลตำบลดอนพุด
  จำนวนผู้เข้าชม 5,433,179 เริ่มนับ 22 ต.ค. 2556 จัดทำโดย : NAXsolution.com
  นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ | นโยบายคุกกี้ | แผนผังเว็บไซต์
  Version ขั้นต่ำของ Browser IE9 / Firefox 3.5 / Chrome / Safari4 / Opera10
รับเรื่องร้องเรียน
โทร : 036-385-034